
นับแต่ปีพุทธศักราช 2541 หรือ ปี ค.ศ. 1998
เป็นปีที่เริ่มต้นมีหลักสูตรการอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine: FM) อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทยโดยแพทยสภาอนุมัติ แทนการอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชปฏิบัติทั่วไป (General Practitioners: GP) อันเนื่องจากแรงผลักดันทั้งภายในและภายนอก เพื่อเติมต่อคุณค่าส่วนที่เป็นช่องว่างของเอกลักษณ์ของแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ในระบบบริการสุขภาพไทยที่ได้รับความนิยมไม่มาก และช่วยลดช่องว่างของบริการแพทย์เฉพาะทางที่เจาะลึก ขยายตัวเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนทำให้เกิดภาวะที่ว่าแม้ผลิตแพทย์มากขึ้นสักเท่าไร ก็ยังมีความขาดแคลนโดยเฉพาะในชนบท ไม่สามารถตอบสนองความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชนส่วนใหญ่ได้ จึงได้มีการเรียนรู้ทบทวนบทเรียนทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ จนได้พัฒนาการให้มีแพทย์เฉพาะทางสาขาใหม่ขึ้นมาที่เรียกว่า “เวชศาสตร์ครอบครัว” โดยพัฒนาให้มีความเป็นเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ในความเชี่ยวชาญในด้านกว้างแทนด้านลึก เชื่ยวชาญในการดูแลปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยแบบมีคุณภาพที่เชื่อมโยงปัญหาด้าน กาย จิต สังคมเชื่อมปัญหาทางการแพทย์กับชีวิตคน และเชื่อมกับการส่งเสริม ป้องกัน ร่วมไปด้วย เป็นศาสตร์วิชาที่นำเรื่องที่ดูเหมือนธรรมดา ถูกละเลยไป แต่มาทำให้เห็นคุณค่า มีการถ่ายทอด และนำมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบ และตอบสนองต่อสุขภาพประชาชนได้ดีมากขึ้น

ปี พ.ศ.2542 ได้ก่อตั้งวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว
แห่งประเทศไทย และต่อมาปี พ.ศ.2548 ได้พัฒนามาเป็นราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ก็มีการปรับเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย

แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ที่ผ่านการฝึกอบรม
อย่างชัดเจนตามหลักสูตร จบเป็นรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2545


นับจนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2562 เวชศาสตร์ครอบครัว
ก็มีพัฒนาการ เติบโตมาได้ครบ สองทศวรรษ ที่มีทั้งช่วงเวลาของการเริ่มต้น คนเรียนไม่มาก ช่วงรุ่งโรจน์ที่แพทย์นิยมมาเรียนกันมาก ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงปฏิรูประบบสุขภาพ ในยุคเริ่มต้นของการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และบางช่วงก็ยัง ขึ้นๆ ลงๆ ไม่เสถียร ระบบเปลี่ยนแปลง มีการปรับปรุงพัฒนาวิธีการฝึกอบรม ในหลายลักษณะทั้งที่เป็น formal training, in-service training, hospital-based และ community based เพื่อหวังให้มีทางเลือกที่พอดีกับบริบทของระบบบริการสุขภาพในประเทศไทย จนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน ที่มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนด ไว้ใน หมวด 16 การปฎิรูปประเทศ “ให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชน ในสัดส่วนที่เหมาะสม” และพัฒนาต่อมาเป็นพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ ที่ลงนามพระปรมาภิไทยไปในปี2562 นี้ ที่หวังว่าจะเป็นการทำให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิ และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความเสถียรมากขึ้น แต่จะยั่งยืนได้จริงหรือไม่ ก็คงมีปัจจัยอื่นอีกที่เกี่ยวข้อง

จากรุ่นแรก ที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ผ่านการฝึกอบรม
ไปทั้งสิ้นจำนวน 9 คน จนถึงปี 2561 มีแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมเป็นแพทย์เชี่ยวชาญในสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว ได้รับวุฒิบัตรจำนวนทั้งหมด 774 คน และผู้ได้รับหนังสืออนุมัติ จำนวน 6351 คน รวมทั้งสิ้นเป็น 7898 คน และรุ่นล่าสุดในปี 2562 นี้มีผู้จบการฝึกอบรมจำนวนทั้งสิ้นเพิ่มอีก จำนวน 199 คน

การเติบโตของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ที่มีจำนวน
เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะยังไม่พอดีกับจำนวนประชากรทีมีจำนวนมากขึ้น สถาบันการฝึกอบรมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็น 38 แห่งในปี 2562 ซึ่งก็อยู่ในระหว่างการพัฒนาให้มีคุณภาพมาตรฐานมากขึ้น

มีความเติบโตในด้านผลงานทางวิชาการ
มีตำราเอกสารด้านเวชศาสตร์ครอบครัวไทย มากขึ้น มีวารสารวิชาการ PCFM (Primary Care and Family Medicine Journal) ที่มีการผลิตมาต่อเนื่อง รวมทั้งงานวิจัยที่เพิ่มมากขึ้น

มีผลลัพธ์งาน ที่แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และทีม
ได้ดำเนินการและก่อผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น การดำเนินงานขยายตัวในพื้นที่ต่างๆ จำนวนมากขึ้น ที่เห็นเป็นรูปธรรมงานชัดได้แก่การดูแลกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต และผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อน แต่ผลงานที่นำไปสู่การสร้างสุขภาพของกลุ่มประชากร และการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ก็ยังเป็นช่องว่างที่ต้องมีการพัฒนาเติมเต็มให้มากขึ้น

ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นต้นทุนที่พัฒนาเติบโตมากขึ้น
ในระยะสองทศวรรษที่ผ่านมา และเป็นต้นทุนสำหรับการขับเคลื่อนต่อไปในระยะข้างหน้า แต่ความท้าทาย และอุปสรรคข้างหน้าก็ยังมีไม่น้อย อันได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก ช่องว่าง ความไม่เท่าเทียมของประชาชนก็ยังมีมาก ลักษณะประชากรผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และการลงทุนพัฒนาในด้านการแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ การเติบโตของศูนย์ excellent center จำนวนมากขึ้น อาจส่งผลให้เป็นการแข่งขัน การแย่งชิงการใช้ และการพัฒนาทรัพยากรได้ หากไม่มีการวางแผนการพัฒนาอย่างเป็นเอกภาพ ที่มีการวางแผนการทำงานร่วม และเสริมต่อกันระหว่างความเป็นเฉพาะทางเชิงลึก กับความเฉพาะทางด้านกว้างในส่วนที่เป็นระบบปฐมภูมิ และเวชศาสตร์ครอบครัว
ความยั่งยืน และคุณค่าสำคัญของระบบแพทย์เวชศาสตร์
ครอบครัว ขึ้นกับ คุณภาพ ที่เป็นผลลัพธ์งานของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ในการเป็นส่วนหนึ่งของจุดคานงัดระบบบริการสุขภาพไทยให้มีคุณภาพ แลการมีส่วนร่วมช่วยให้ประชาชนไทย มีสุขภาพดีเพิ่มมากขึ้น

แพทย์หญิงสุพัตรา ศรีวณิชชากร
และ
รศ.พญ.สมจิต พฤกษะริตานนท์
ผู้เรียบเรียง
งานประชาสัมพันธ์
GPFPAT
