“รู้จักแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ในระบบสุขภาพปฐมภูมิ”

[ENGLISH VERSION] 14 พฤษภาคม พ.ศ.2562

เราคงเคยเห็นภาพหมอที่หิ้วกระเป๋ายาไปเยี่ยมคนไข้ที่บ้าน ไปดูแลและรักษา อาจจะไปคนเดียวหรือไปพร้อมกับพยาบาล หรือบางบ้านที่มีผู้สูงอายุ จะมีหมอจำประจำบ้านคอยดูแลอย่างต่อเนื่อง นั่นคือลักษณะหนึ่งของ “หมอครอบครัว” หรือ “แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” ในชื่อที่ใช้ปัจจุบัน  ขณะที่ ในชีวิตจริง หลายคนคงเคยมีประสบการณ์รับบริการสุขภาพจากหมอครอบครัว แต่เมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 มาตรา 258 ช. (5) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้กำหนดให้มี “ระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม” การทำความรู้จักบทบาทของหมอครอบครัวกันใหม่จึงมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนโดยตรง

          แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจะทำอะไรได้บ้าง ? หลักการแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมีความพิเศษหรือแตกต่างจากการดูแลสุขภาพแบบอื่นอย่างไร ? … เป็นคำถามที่ตามมาหลังจากพระราชบัญญัติดังกล่าว

วิธีทำความเข้าใจบทบาทหมอครอบครัวผ่านการเรียนรู้ แนวทางหล่อหลอมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคลื่นลูกใหม่ เป็นอีกแนวทางที่จะสำรวจมุมมองเชิงลึกถึงทิศทางการการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ประธานราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ได้ให้สัมภาษณ์ในงานการอบรมปฐมนิเทศแพทย์เข้าร่วมโครงการปฏิบัติงานเพื่อสอบวุฒิบัตรแสดงความรู้ ความชำนาญ ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว ประจำปีการศึกษา 2562 วันที่ 14 พฤษภาคม 2562 ได้อธิบายบทบาทของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวไว้ 4 ประการ ดังนี้

เข้าใจความทุกข์ของประชาชน ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ อธิบายให้เห็นภาพว่า ต้องมีความสามารถในการสื่อสาร มีความสามารถในการรับฟัง เป็นหมอที่พูดภาษาเดียวกับชาวบ้านได้ ไม่ใช่ว่าชาวบ้านมาแล้วพูดภาษาอังกฤษใส่ชาวบ้าน สามารถรับรู้ รับฟัง ความทุกข์ของคนไข้ แล้วก็สะสางความทุกข์ของคนไข้ให้เหมือนกับเป็นเพื่อน หมอครอบครัวต้องเข้าใจความทุกข์ของประชาชน รับรู้ได้ถึงความทุกข์ และปัจจัยที่อยู่แวดล้อมความทุกข์ของคนไข้ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านสังคม เศรษฐกิจ ปัจจัยทางด้านร่างกาย จิตใจ ชาวบ้านได้และเข้าถึงได้ง่าย เวลามีปัญหาอะไรก็มาปรึกษาได้ เป็นที่ปรึกษาในปัญหาที่กระทบต่อสุขภาพให้กับครอบครัว โรงเรียน และชุมชนได้ก็จะทำให้ผลกระทบของปัญหาสังคม เศรษฐกิจ กับปัญหาหาสาธารณสุขลดลงไปได้

ด่านหน้าแก้ปัญหาสุขภาพ ทำความเข้าใจความทุกข์ของประชาชน และยังสามารถจะส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ซึ่งต้องใช้ความสามารถในการแก้ปัญหาสุขภาพโดยทั่วไป โดยทั่วไปพบว่าสังคมไทยจะมีปัญหาโรคเรื้อรังมากขึ้น โรคที่เป็นกันเยอะจะเป็นเบาหวาน ความดัน แต่จริงๆ แล้วมีโรคทางสังคม เช่น การเป็นผู้สูงอายุก็จะมีปัญหาหลายอย่างไม่เฉพาะความเจ็บป่วย ปัญหาพฤติกรรมเสพติดก็เป็นปัญหาสุขภาพ เป็นต้น

อุดช่องว่างทางการรักษา ตัวอย่างของการผสานงานระหว่างแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นที่ทำให้การรักษาโรคมีความหวังมากขึ้น ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ยกตัวอย่างที่น่าสนใจว่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านมะเร็งบอกว่าคนไข้มะเร็งอยู่ในขั้นสุดท้ายแล้ว ไม่สามารถจะทำอะไรได้แล้วอีกแล้ว ขอให้กลับไปตายที่บ้าน คนไข้ก็ไม่รู้ว่าวิธีการไปตายที่บ้านให้มีความสงบสุขทำอย่างไร หมอมะเร็งก็ไม่สามารถจะตามไปดูแลที่บ้านได้ แต่มีหมอเวชศาสตร์ครอบครัวที่เข้าใจบริบทของความทุกข์ของเขา สามารถไปดูแลเยี่ยมและให้คำแนะนำการดูแลคนไข้ระยะสุดท้ายที่ดีที่สุด

ทำงานเป็นระบบ ส่งต่อ และดูแลต่อเนื่อง แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวอาจจะคัดเลือกคนที่น่าจะได้รับการรักษาตั้งนานแล้ว แต่ว่าไม่รู้เรื่องก็เลยเข้ามาสู่การรักษาผ่าตัดช้า แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวก็จะเข้าถึงได้เร็ว สามารถให้คำแนะนำ และทำให้เกิดการดูแลแก้ไขในเชิงเชี่ยวชาญ ตรงโรค ให้เร็วขึ้น ถ้าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ที่ประสงค์จะให้เกิดการดูแลที่บ้านในพื้นที่ก็จะเริ่มมาทำงานร่วมกับแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ในการที่จะมาวางแผนร่วมกันจะต้องดูแลต่อเนื่องอย่างไร เป็นตัวอย่างการรักษาทั้งขาไปและขากลับที่สามารถจะทำงานให้เป็นประโยชน์กับคนไข้ได้

การประกาศพระราชบัญญัติสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ยังเป็นการแสดงความมั่นใจว่าประเทศไทยสามารถจัดระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพได้ นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวถึงการพัฒนาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในปัจจุบันว่า แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นสาขาที่เริ่มมีผู้สนใจ บางครั้งเป็นการส่งเสริมให้ได้รับการอบรมได้เลย ตั้งแต่จบแพทย์ ก็สามารถอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทาง ศักดิ์ศรีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวก็ถือว่าเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาหนึ่ง ซึ่งเป็นการดูแลประชาชนตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงวัยสูงอายุ รวมถึงดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย ทำให้คิดแนวทางการดูแลสุขภาพประชาชนได้ครบวงจร ขณะที่ นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิกล่าวถึงทิศทางการปฏิรูประบบสาธารณสุขว่า คนไทยทั้ง 68 ล้านคน จะต้องมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เป็นผู้มีรายชื่อเป็นผู้รับผิดชอบชีวิต คนไทยต้องมีสิทธิได้รับบริการปฐมภูมิมีความเท่าเทียมกัน เพื่อจะให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีระบบบริการที่เท่าเทียม มีคุณภาพในเรื่องรับบริการปฐมภูมิอย่างเสมอภาค

การได้ทำความรู้จักความหมายของหมอครอบครัวผ่านมุมมองผู้บริหารดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าหัวใจสำคัญของระบบสุขภาพปฐมภูมิ ที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นผู้นำทีมหมอครอบครัว คือ การเรียนรู้ ดูแล และรักษาด้วยความเข้าใจความทุกข์ของประชาชนอย่างเป็นองค์รวม ดังนั้น การเริ่มต้นทำความรู้จักบทบาทของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจึงเป็นการผูกมิตรกับเพื่อนผู้ที่มาพร้อมทั้งหลักเวชปฏิบัติทั่วไปและเวชศาสตร์ครอบครัว ที่จะเป็นมิตรทางกาย จิตใจ และสังคม การพบหมอครอบครัว อาจจะได้ใบสั่งยาที่แตกต่างออกไป แต่อย่างน้อย เราก็เชื่อมั่นว่าหลักการแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคือการทำความเข้าใจความทุกข์ของประชาชนในพื้นที่จริง

เรียบเรียง : กองบรรณาธิการ สมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย เนื่องในวันแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวโลก 19 พฤษภาคม